เรื่องของการปฏิบัติตามระเบียบของวัด ขอให้พวกท่านเข้าใจว่าการสวดมนต์ ทำวัตร บิณฑบาต กรรมฐาน ล้วนแล้วแต่เป็นเครื่องช่วยชีวิตของเราทั้งสิ้น เนื่องเพราะว่าถ้าสภาพจิตของเราสงบระงับ ก็จะเห็นคุณค่าว่าการสวดมนต์ ทำวัตร บิณฑบาต กรรมฐานนั้น นอกจากจะเป็นการรักษาอริยประเพณี ที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประทานไว้ให้แล้ว ยังเป็นการรักษากำลังใจของเราให้อยู่ในด้านดีได้อีกด้วย

พระครูวิลาศกาญจนธรรม, ดร.
เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน
วันศุกร์ที่ ๒๒ กันยายน พุทธศักราช ๒๕๖๖

ใครที่ทิ้งเรื่องทั้งหลายเหล่านี้ มีแต่จะโดนกระแสกิเลสชักจูงให้ห่างความดีออกไปทุกที ซึ่งถึงเวลาแล้วเราก็จะฟุ้งซ่าน เดือดร้อนเอง โดนรัก โลภ โกรธ หลง กระหน่ำตี ถ้ายังไม่รู้สึกเข็ด ก็ต้องทนทุกข์ทรมานต่อไป

แต่ถ้าเรารักษาวัตรปฏิบัติเหล่านี้เอาไว้ได้สม่ำเสมอ กำลังสมาธิที่ทรงตัว ก็จะทำให้ รัก โลภ โกรธ หลง โดนกดดับไปชั่วคราว สภาพจิตของเราจะมีความสุขเยือกเย็นมาก ความผ่องใสของจิตจะมีมาก ทำให้เกิดปัญญา มองเห็นว่าทำอย่างไรที่เราจะประคับประคองกำลังใจของเราให้ทรงตัวอยู่ในด้านดีแบบนี้ไปนาน ๆ แล้วขณะเดียวกัน ก็ช่วยขัดเกลากิเลสต่าง ๆ ให้ลดน้อยถอยลงไปตามลำดับ จนกระทั่งท้ายสุด กิเลสก็ไม่มีอำนาจที่จะชักจูงเราไปในทางต่ำได้อีก

กระผม/อาตมภาพเองเป็นผู้มีภารกิจมาก ไม่มีเวลาที่จะมาอยู่เป็นหลักให้กับท่านทั้งหลาย แต่ถ้าหากว่าพวกท่านต้องรอจนกระทั่งครูบาอาจารย์อยู่ แล้วคอยมาจ้ำจี้จ้ำไชสั่งสอน ก็แปลว่าชาตินี้เอาดีไม่ได้..!

สมัยก่อนตัวกระผม/อาตมภาพก็เกิดอาการแบบนี้เหมือนกัน เพราะว่าหลวงพ่อฤๅษีฯ วัดท่าซุงนั้น นอกจากภารกิจมากแล้ว ท่านยังเจ็บไข้ได้ป่วยเป็นปกติ บางทีครึ่งค่อนเดือนไม่มีโอกาสได้เห็นหน้าท่านเลย โดยเฉพาะท่านให้โอวาทไว้ตั้งแต่วันแรกที่บวชว่า “เมื่อบวชพระเข้ามาแล้ว ถือว่าเป็นผู้ใหญ่ ต้องรู้จักรักษาตัวเอง เทปมี หนังสือมี ไปเปิดฟังเอา ไปอ่านเอา แล้วปฏิบัติตาม ถ้าหากว่าติดขัดตรงไหนแล้วค่อยมาถาม”

ดังนั้น..ถ้าหากว่าท่านที่อยู่เก่า ๆ หน่อย จะได้ยินกระผม/อาตมภาพเล่าให้ฟังว่า สมัยนั้นทุ่มเทให้กับการปฏิบัติขนาดไหน แต่ละคืนนอนประมาณ ๒ ชั่วโมงเท่านั้น เวลาที่เหลืออยู่กับการปฏิบัติโดยที่ไม่สนใจว่าเป็นกลางวันหรือกลางคืน สนใจอยู่อย่างเดียว คือเมื่อถึงเวลาสวดมนต์ ทำวัตร บิณบาต กรรมฐาน จะรีบไปทำหน้าที่ของตนตามระเบียบวัด พ้นจากหน้าที่แล้วก็เข้าที่ภาวนาต่อทันที

ดังนั้น..ทุกวันนี้กระผม/อาตมภาพนั่งอยู่ตรงนี้ได้ เพราะว่าไม่ได้รอให้ครูบาอาจารย์มาจ้ำจี้จ้ำไช ปากเปียกปากแฉะ แต่ตั้งหน้าตั้งตาปฏิบัติตามสิ่งที่ท่านสอนไปเลย โดยเฉพาะการฟังคำสอนว่าเป็นคำสั่ง ท่านบอกอะไรคือท่านสั่งให้ทำอย่างนั้น ไม่ใช่ฟังคำสอนให้เป็นคำสอน ใครที่ฟังคำสอนเป็นคำสอนก็จะปล่อยให้เลยหูไป แบบที่ท่านทั้งหลายส่วนมากทำกัน แล้วพอเอาดีไม่ได้ ก็มาแหงนคอรอคอยว่า เมื่อไรครูบาอาจารย์จะมาชี้ที่ผิดที่ถูกให้อีก

ถ้าลักษณะแบบนี้ ก็แปลว่าชีวิตนี้ไม่ต้องหวัง เนื่องเพราะว่าเรารักษากำลังใจของตัวเองไม่ได้ เท่ากับปล่อยให้ไหลตามน้ำไปอยู่ตลอดเวลา เมื่อถึงเวลาครูบาอาจารย์ชี้ทางให้ก็ว่ายขึ้นมาใหม่ ไหลตามน้ำไปเป็นวันเป็นเดือน แต่ว่ายขึ้นมาแค่ไม่กี่นาที แล้วเมื่อไรจะได้ผลงานเท่าเดิม ? ไม่ต้องไปหวังเลยว่าจะมีความก้าวหน้ามากกว่าเดิม

เรื่องของการปฏิบัติธรรมจึงเป็นเรื่องของบุคคลที่บารมีเต็มจริง ๆ โดยเฉพาะในส่วนของวิริยบารมี พากเพียรไม่ท้อถอย สัจจบารมีจริงจังจริงใจกับการปฏิบัติ ปัญญาบารมี รู้จักควบคุม ผ่อนหนักผ่อนเบาตามสถานการณ์ ใครที่ไม่สามารถทำได้ ต้องรู้ตัวว่าบารมีของเรายังอ่อนมาก

แบบเดียวกับที่วันก่อนได้กล่าวไปว่า พระครูวาทีวรวัฒน์, ดร. (กล้า วีรรตโน) รองเจ้าคณะอำเภอเมืองเพชรบุรี เจ้าอาวาสวัดมหาธาตุวรวิหาร ซึ่งเป็นทั้งเพื่อนทั้งลูกศิษย์ ท่านบ่นว่า “ผมอยากจะทำให้ได้อย่างหลวงพ่อบ้าง แต่ก็ทำไม่ได้สักที” ก็อยู่ในลักษณะเดียวกับพวกเรา คือ ความเพียรพยายามยังไม่พอ ขาดความจริงจังในการปฏิบัติ ขาดความอดทนอดกลั้นต่อความยากลำบาก แต่ไปหวังความสำเร็จอย่างเดียว..!

ในการเทศน์วันพระเมื่อเช้านี้ กระผม/อาตมภาพถึงได้ถามว่า แทงใจดำใครบ้าง ? ปฏิบัติอีเหละเขละขละ ไม่เป็นโล้ไม่เป็นพาย แต่กลับหวังพระนิพพาน เป้าหมายของเรากับการกระทำห่างกันเท่าไร..!?

ดังนั้น…พวกเราทั้งหลาย ถ้าหากว่าไม่เร่งรีบในการปฏิบัติ เพื่อที่จะดึงเอากำลังใจของเรากลับมาให้ได้เท่าเดิม โดยเฉพาะความมุ่งหวังแรก ๆ ที่เราบวชมาเพื่ออะไร ? ในเมื่อบวชมา ตั้งใจที่จะพ้นจากกองทุกข์ ความดีความสามารถเพียงเบื้องต้น เราก็ยังทำไม่ได้ แล้วจะไปหวังอะไรกับเบื้องกลางและเบื้องปลายที่เราตะเกียกตะกายไปไม่ถึง แล้วถ้ายิ่งเราปล่อยนานเข้า กิเลสก็จะทำให้เราฟุ้งซ่านหนักขึ้น ท้ายสุดก็อยู่ไม่ได้..!

เรื่องพวกนี้จึงเป็นเรื่องที่พวกเราต้องพึงสังวรเอาไว้ ว่าภาระหน้าที่ของพระภิกษุสามเณรมีอะไร ต้องทำให้เต็มที่ เพราะว่าเป็นเครื่องช่วยชีวิตของเราทั้งสิ้น แม้กระทั่งการปัดกวาดลานวัด เช็ดถูศาลา ถ้าหากว่ารู้จักทำ ก็คือการปฏิบัติกรรมฐานดี ๆ นี่เอง

กระผม/อาตมภาพบวชใหม่ ๆ รับหน้าที่ถูศาลานวราชบพิตรที่วัดท่าซุง ไม่ต้องให้ใครสั่ง ทำเพราะอยากทำ ไม้กวาดจะไปซ้าย จะไปขวา จะไปหน้า จะไปหลัง รู้อยู่ ไม้ถูจะไปหน้า จะไปหลัง จะไปยาว จะไปสั้น รู้อยู่ มีสติรู้ตัวอยู่ตลอดเวลาที่ทำงาน เพียงแต่ว่าทำได้ไม่นาน ญาติโยมเห็นพระถูศาลาแล้วทนไม่ได้ก็มาแย่งทำ กระผม/อาตมภาพก็ต้องไปหางานอื่น เนื่องเพราะว่าใช้งานเป็นกรรมฐาน

ตอนออกบิณฑบาตก็ตั้งใจเอาไว้ว่า ตั้งแต่ก้าวแรกที่เดินออกจากประตูวัด จนถึงก้าวสุดท้ายที่กลับคืนมาวัด เราต้องรักษากำลังใจไม่ให้หลุดจากการภาวนาให้ได้ วันแรกที่ทำได้นั้นเป็นวันที่มีความสุขที่สุด เพราะว่าระยะทางในการบิณฑบาตนั้นยาวไกลมาก เราสามารถที่จะรักษากำลังใจได้ตั้งแต่ต้นจนจบ ก็แปลว่าเราสามารถที่จะเอาชนะกิเลสได้บางส่วนแล้ว

เวลาเจริญกรรมฐาน คนอื่นนั่งรถรางไปยังวิหาร ๑๐๐ เมตร กระผม/อาตมภาพกับท่านสมปองเดินไป ก็คือเดินไปภาวนาไป เอากำไรตั้งแต่ต้น กว่าที่จะไปถึง เข้าที่สำหรับทำวัตร กำลังใจก็ทรงตัวเต็มที่แล้ว เมื่อทำวัตรเสร็จ เริ่มเจริญกรรมฐานก็อยู่ในลักษณะที่พร้อมจะทิ้งทุกอย่างไปได้เลย เสร็จสิ้นจากการเจริญพระกรรมฐาน อุทิศส่วนกุศลแล้ว ก็ประคับประคองรักษาอารมณ์ที่เราทำได้เอาไว้ อย่างน้อย ๆ ต้องอยู่กับเราตั้งแต่เลิกกรมฐานจนก่อนจะหลับ พอมาภายหลัง สามารถทำได้ดีขึ้น แม้แต่หลับก็รู้อยู่ว่าตัวเองหลับ จะตื่นเมื่อไรยังต้องสั่งให้ตัวเองตื่น..!

เรื่องของการปฏิบัติจะก้าวหน้าตามนี้ ถ้าหากเรารู้ตัวว่าเราทำอะไรอยู่ และเป้าหมายของเราคืออะไร คำว่าท้อถอยไม่เคยปรากฏขึ้นในใจเลย ทั้ง ๆ ที่ล้ม ๆ ลุก ๆ บางวันเป็นร้อย ๆ ครั้ง เนื่องจากว่ามีนิสัยว่า ถ้ามีคู่ต่อสู้อยู่ตรงหน้า ก็ต้องตายกันไปข้างหนึ่ง คำว่ายอมแพ้ไม่เคยมี..!

ถ้าท่านทั้งหลายสามารถปฏิบัติได้อย่างนี้ โอกาสที่ท่านจะรักษากำลังใจของตนเอาไว้ได้ก็จะมีมาก ระยะเวลาที่เหลือก่อนออกพรรษา ก็สามารถที่จะอยู่อย่างมีความสุข แต่ถ้าหากว่าทำไม่ได้ ก็ต้องทนฟุ้งซ่านไปอีกเป็นเดือน กว่าที่จะมีโอกาสสึกหาลาเพศไป ก็แปลว่าท่านยอมโง่ลำบากเอง..! ทั้ง ๆ ที่สามารถทำให้ตัวเองสบายได้

( ขอบคุณเว็บวัดท่าขนุน)

พระครูวิลาศกาญจนธรรม, ดร.
เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน
วันศุกร์ที่ ๒๒ กันยายน พุทธศักราช ๒๕๖๖
(ถอดจากเสียงเป็นอักษร โดย เผือกน้อย)

https://www.watthakhanun.com/webboard/showthread.php?t=9758

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *