เรื่องของข้อสอบนักธรรมชั้นตรีสนามหลวงเป็นวิชาธรรมวิภาค และคิหิปฏิบัติ คำว่า ธรรมวิภาค คือส่วนหนึ่งของหลักธรรมสำคัญ ที่ส่วนใหญ่แล้วก็คือให้เราได้รู้ว่า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนอะไรไว้บ้าง และถ้าเป็นไปได้ ควรที่จะปฏิบัติตามนั้นให้ได้ ในส่วนของคิหิปฏิบัตินั้น เหมาะสำหรับพระภิกษุสามเณร ซึ่งสึกหาลาเพศไปแล้ว จะได้เอาไปใช้ในชีวิตประจำวันในยามที่เป็นฆราวาส ส่วนใหญ่ก็จะออกในส่วนของธรรมวิภาค ๗ ข้อ คิหิปฏิบัติ ๓ ข้อ เป็นต้น
คิหิปฏิบัติในวันนี้มีคำถามเกี่ยวกับมิตรแท้ที่ควรคบว่ามีกี่ประเภท อะไรบ้าง ซึ่งเราท่านทั้งหลายต้องเข้าใจว่า ทางพระพุทธศาสนานั้นแยกมิตรออกเป็น ๒ ประเภท ก็คือมิตรแท้ ๑ มิตรเทียม ๑ แล้วมิตรแท้ที่อยู่ในคำถามนั้นยังแบ่งออกเป็น ๔ ประเภท ก็คือ

หนึ่ง...มิตรมีอุปการะ เป็นบุคคลที่ช่วยเหลือเราในทุกรูปแบบ
สอง…มิตรร่วมทุกข์ร่วมสุข เรามีความสุข เขาก็ร่วมสุขด้วย มีความทุกข์ เขาก็ร่วมทุกข์ด้วย ไม่ได้อยู่ในโคลงกลอนที่กล่าวเอาไว้ว่า
เมื่อมั่งมีมากมายมิตรหมายมอง
เมื่อมัวหมองมิตรมองเหมือนหมูหมา
เมื่อไม่มีมิตรหมดมิมองมา
แม้มอดม้วยหมูหมาไม่มามอง
ถ้าในลักษณะอย่างนั้นถือว่าเป็นมิตรเทียม ไม่ใช่มิตรแท้
มิตรแท้ประเภทต่อไปก็คือ มิตรแนะประโยชน์ สิ่งใดที่เป็นสิ่งดี ทำแล้วเกิดความเจริญในกาย ในวาจา ในใจของเรา เพื่อนฝูงประเภทนี้จะคอยบอก คอยกล่าว บางทีก็จ้ำจี้จ้ำไชให้เราทำในสิ่งทั้งหลายเหล่านั้น จนกระทั่งบางทีเราก็คิดว่า นี่กูมีพ่อ หรือว่าครูเพิ่มมาตั้งแต่ตอนไหนวะ ?
สุดท้าย มิตรมีความรักใคร่ มิตรประเภทนี้สามารถตายแทนเราได้ รักใครรักจริง

บรรดามิตรต่าง ๆ เหล่านี้ ที่องค์สมเด็จพระชินสีห์บรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าแนะนำให้เราคบหา สามารถที่ทำให้เราแยกแยะได้ว่า ในยามที่เป็นฆราวาสนั้น เราควรที่จะคบหามิตรประเภทใด
ถ้าหากว่าเป็นผู้ที่มีอุปการะ เราก็ต้องมีกตเวทิตา คือรู้จักแทนคุณท่านเมื่อสามารถที่จะแทนได้
ถ้าหากว่าเขาร่วมทุกข์ร่วมสุข ถึงเวลาเขาทุกข์ เราก็ต้องร่วมทุกข์กับเขาด้วย ไม่ใช่อยู่เฉพาะร่วมสุขเท่านั้น
ถ้าหากว่าเขาแนะประโยชน์ให้ เราก็ควรที่จะรีบทำ เพื่อที่ถึงเวลาแล้ว สิ่งดี ๆ ทั้งหลายจะได้บังเกิดมีแก่ตัวเรา
ถ้าเขามีความรัก มีความจริงใจ เราก็ควรที่จะรักและจริงใจตอบ เป็นต้น
องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น พระองค์ทรงแนะนำหลักธรรมที่เป็นทิฏฐธัมมิกัตถประโยชน์ ก็คือก่อให้เกิดประโยชน์ชัดเจนในชาติปัจจุบันนี้ สัมปรายิกัตถประโยชน์ ก็คือในชาติต่อ ๆ ไป อย่างเช่นว่าการให้ทาน ชาติต่อไปเราจะเป็นผู้ที่ร่ำรวย สมบูรณ์พูนสุขด้วยโภคทรัพย์ต่าง ๆ การรักษาศีล ชาติต่อไป เราก็จะเป็นบุคคลผู้มีรูปสวย มีจิตใจดีงาม มีอายุยืนนาน ไม่เป็นผู้มีอายุสั้นพลันตาย เป็นต้น

การเจริญภาวนา ชาติต่อ ๆ ไป เราก็จะเป็นผู้มีปัญญามาก มีปัญหาทางโลก ก็สามารถที่จะแก้ไขไปได้โดยง่าย มีปัญหาทางธรรม ก็สามารถพินิจพิจารณารู้แจ้งแทงตลอด เข้าถึงธรรมเหล่านั้นได้ เป็นต้น ดังนั้น..ในเรื่องของคิหิปฏิบัติ จึงเป็นเรื่องที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าต้องการในทิฏฐธัมมิกัตถประโยชน์ ก็คือประโยชน์ที่เห็นชัดเจนในชาติปัจจุบันนี้
อีกข้อหนึ่งก็คือในเรื่องสังคหวัตถุ ก็คือสิ่งที่สมควรจะสงเคราะห์ต่อกัน เพื่อยึดโยงกำลังใจให้รักใคร่สามัคคีเหนียวแน่นกัน ประกอบไปด้วย
ทาน คือรู้จักเสียสละ ให้ปันแก่ผู้อื่นเขา
ปิยวาจา พูดดี พูดไพเราะ
อัตถจริยา ทำตนเป็นประโยชน์แก่ผู้อื่น
และสมานัตตตา กระทำความดีอย่างเสมอต้นเสมอปลาย
ซึ่งความจริงในส่วนของสมานัตตตานี้ กระผม/อาตมภาพอยากจะบอกว่าเอาใจเขามาใส่ใจเรา ถ้าหากว่าเรารู้จักเอาใจเขามาใส่ใจเรา รู้ว่าเขาไม่ชอบสิ่งใด เราก็ไม่ควรกระทำสิ่งนั้น เขาชอบใจในสิ่งใดที่ถูกที่ควร เราก็กระทำสิ่งนั้น ก็จะก่อให้เกิดความรักความสามัคคีขึ้น แล้วค่อย ๆ จับกลุ่มกันเป็นวงกว้าง ทำให้บ้านเมืองของเรามีความเจริญมั่นคง

ในส่วนของธรรมวิภาคนั้น มีการกล่าวถึงรัตนะ คือดวงแก้วอันทรงคุณค่า ๓ ประการ ว่าประกอบไปด้วยอะไรบ้าง แต่ละอย่างมีประโยชน์อย่างไร ซึ่งเราท่านทั้งหลายส่วนใหญ่ก็ทราบแล้วว่า พุทธรัตนะ คือองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น ทรงตรัสรู้เองโดยชอบ แล้วสั่งสอนบุคคลอื่นให้ตรัสรู้ตามไปด้วย
พระธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ย่อมป้องกันผู้ปฏิบัติตามไม่ให้ตกไปสู่ทางที่ชั่ว คำว่า ทางชั่ว ในที่นี้เป็นได้ทั้งทางโลกและทางธรรม ก็คือไม่ให้เราเป็นคนชั่วในสังคม กลายเป็นบุคคลเหลือเดน ติดคุกติดตะราง หรือเป็นที่รังเกียจของผู้อื่นอย่างหนึ่ง อีกอย่างหนึ่งก็คือให้รอดพ้นจากทุคติ คือนรก เปรต อสุรกาย และสัตว์เดรัจฉาน เป็นต้น
ส่วนพระสงฆ์นั้น คือบุคคลที่ศึกษาพระธรรม จนกระทั่งรู้แจ้งแทงตลอด แล้วนำไปเผยแผ่ให้แก่ผู้อื่น

ดังนั้น..ในเรื่องของรัตนะ คือดวงแก้วอันทรงคุณค่าทั้ง ๓ ประการนี้ ต้องบอกว่าเป็นหลักชัยในพระพุทธศาสนาของเรา ในปัจจุบันนี้พระพุทธรัตนะ พระธรรมรัตนะ ยังสมบูรณ์พร้อม แต่ว่าเราจะต้องกราบให้ถูกต้อง ก็คือไม่กราบพระพุทธไปหยุดที่ทองคำ ไม่กราบพระธรรมไปติดที่คัมภีร์ เนื่องเพราะว่าถ้าในลักษณะอย่างนั้น แปลว่าเราติดในวัตถุ ไม่ได้ติดในส่วนที่เป็นคุณค่าอย่างแท้จริงของพระรัตนตรัย

ดังนั้น..การกราบพระสงฆ์ของเรา จึงไม่ได้ติดอยู่ที่ลูกชาวบ้าน หากแต่ว่าเป็นบุคคลผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ยังพระพุทธศาสนาของเราให้เจริญมั่นคงต่อไป จึงเป็นเรื่องที่ท่านทั้งหลายต้องวางกำลังใจให้ถูกต้อง ความจริงข้อสอบมีถึง ๑๐ ข้อ แต่ไม่มีเวลาที่จะกล่าวทั้งหมด
พระครูวิลาศกาญจนธรรม, ดร.
เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน
วันอังคารที่ ๒๔ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๖๖
ขอบคุณข้อมูลจากเว็บไซต์วัดท่าขุนน