โอวาทปาติโมกข์นั้น ก็คือ คำสอนที่เป็นหลักใหญ่ของพระพุทธศาสนา ซึ่งเนื้อหาของโอวาทปาติโมกข์นั้น พระองค์ท่านเริ่มต้นว่า ขันตี ปะระมัง ตะโป ตีติกขา แปลว่า ขันติ คือ ความอดทนอดกลั้นนั้น เป็นตบะคือเครื่องเผากิเลสอย่างยิ่งของนักปราชญ์
แปลว่า การที่เราจะปฏิบัติในศีล ในสมาธิ ในปัญญานั้น องค์สมเด็จพระภควันต์ทรงตรัสแก่พุทธศาสนิกชนทั้งหมด ผ่านพระภิกษุทั้ง ๑,๒๕๐ รูปว่า บุคคลที่ตั้งใจปฏิบัติธรรมนั้น อันดับแรกต้องมีความอดทน ถ้าไม่มีความอดทน เราก็ไม่สามารถที่จะปฏิบัติธรรม ต่อสู้ฟันฝ่ากิเลสให้ประสบความสำเร็จได้
พระองค์ตรัสต่อไปว่า นิพพานัง ปะระมัง วะทันติ พุทธา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทุกพระองค์ ก็ล้วนแล้วแต่สอนให้บุคคลเข้าถึงที่สุดแห่งทุกข์ คือพระนิพพานด้วยกันทั้งสิ้น

ลำดับต่อไปพระองค์ท่านตรัสว่า นะ หิ ปัพพะชิโต ปะรูปะฆาตี บุคคลที่ยังฆ่าผู้อื่นอยู่ ไม่ชื่อว่าเป็นบรรพชิต คือไม่ใช่นักบวชเลย
สะมะโณ โหติ ปะรัง วิเหฐะยันโต บุคคลที่ยังเบียดเบียนผู้อื่นอยู่ แม้ด้วยกาย ด้วยวาจา หรือด้วยใจก็ตาม ก็ยังไม่เรียกว่าสมณะ คือถึงต่อให้นุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์อยู่ ก็ไม่นับว่าเป็นนักบวชนั่นเอง
หลังจากที่ได้ประกาศอุดมการณ์ ก็คือเป้าหมายสูงสุดในพระพุทธศาสนาไว้ว่า บุคคลเราถ้าหากว่าตั้งใจปฏิบัติในพระพุทธศาสนา ต้องกระทำให้ถึงพระนิพพาน ด้วยความอดทนอดกลั้น เป็นผู้ที่ไม่ฆ่าผู้อื่น ไม่เบียดเบียนผู้อื่นด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจแล้ว
พระองค์ท่านยังประกาศหลักการในพระพุทธศาสนา ต่อไปว่า อะนูปะวาโท เราต้องไม่ว่าร้ายใคร อะนูปะฆาโต เราต้องไม่ทำร้ายใคร ปาติโมกเข จะ สังวะโร ให้สำรวมในศีลของเราไว้
ถ้าหากว่าทุกคนตั้งใจรักษาศีลตามสภาพของตนเอง คือ พระภิกษุสงฆ์ก็รักษาศีล ๒๒๗ ข้อ สามเณรรักษาศีล ๑๐ ข้อ อุบาสกอุบาสิการักษาศีล ๘ ข้อ ญาติโยมที่เป็นพุทธมามกะทั่วไป รักษาศีล ๕ ข้อ
ถ้าพวกเราทำได้อย่างนี้ ก็แปลว่าสังคมจะประกอบไปด้วยความสงบสุขร่มเย็นเป็นอย่างยิ่ง เพราะว่าทุกคนรู้หน้าที่ของตัวเอง พระองค์ท่านจึงสอนว่า เราต้องสำรวมระมัดระวังรักษาศีลของตนเอาไว้ ยอมให้ตัวตายดีกว่าศีลขาด ถ้าใครทำได้ดังนี้ โอกาสที่บรรลุมรรคผลก็จะมีแก่ตน
ลำดับต่อไป พระองค์ท่านกล่าวว่า ปันตัญจะ สะยะนาสะนัง ให้นอนให้นั่งในที่อันสงัด หมายความว่า ที่อยู่ที่อาศัยของนักปฏิบัตินั้น ไม่ควรที่จะเกลื่อนกล่นไปด้วยผู้คน ควรจะเป็นที่สงัดจากผู้คน เพื่อที่เราจะได้ปฏิบัติธรรมได้อย่างเต็มที่
แล้วหลังจากนั้นพระองค์ก็ตรัสหลักการข้อต่อไปว่า มัตตัญญุตา จะ ภัตตัสมิง แปลว่า เป็นผู้รู้ประมาณในการบริโภค กินแค่พอดี คำว่าพอดีในที่นี้ ไม่ใช่เต็มที่เหมือนอย่างกับฆราวาสทั่วไป ซึ่งเขากินกันวันละ ๓ มื้อ
นักบวชของเรา ท่านให้ฉันได้มื้อสุดท้ายไม่เกินเวลาตะวันตรงหัว ก็แปลว่าไม่เกินเที่ยงนั่นเอง ถ้าหากว่าเราลดการกินลงไปมื้อหนึ่ง นอกจากจะประหยัดแล้ว ยังไม่ต้องไปกังวลว่า จะต้องเสียเวลาไปหามากิน หามาใช้ หามาทำเป็นอาหาร
และในขณะเดียวกัน ร่างกายของบุคคลที่ว่างจากอาหารแล้วไซร้ เลือดลมก็เดินได้สะดวกปลอดโปร่งมาก ทำให้สามารถปฏิบัติภาวนาได้ดี มีความเบากาย ซึ่งจะเป็นเหตุให้เกิดความเบาใจได้
ข้อสุดท้ายพระองค์ตรัสหลักการไว้ว่า อะธิจิตเต จะ อาโยโค แปลว่า จะต้องหมั่นรักษาจิตของตนเองให้ตั้งมั่น คือไม่ฟุ้งซ่านไปด้วยอำนาจของนิวรณ์ หรือรัก โลภ โกรธ หลง เป็นต้น

เราจะเห็นได้ว่า โอวาทปาติโมกข์นั้น เป็นการประกาศอุดมการณ์สูงสุดของพระพุทธศาสนา โดยมีเป้าหมายอยู่ที่พระนิพพาน บุคคลต้องปฏิบัติด้วยความอดทนอดกลั้น ฝืนใจตัวเองไม่ให้ทำร้ายใคร ไม่ให้คิดร้ายใคร และหลักการต่าง ๆ ที่ใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติ เริ่มจากการที่ไม่ว่าร้ายใคร เป็นการสำรวมทางวาจา การไม่ทำร้ายใคร เป็นการสำรวมทางกาย เป็นผู้สำรวมในศีลของตัวเอง คือสำรวมทางใจนั่นเอง เป็นผู้รู้ประมาณในการบริโภค เป็นผู้อยู่อาศัยในที่สงัดเพื่อที่จะได้ปฏิบัติได้เต็มที่ และเป็นผู้ทรงสมาธิเป็นปกติ ทั้งสามอย่างนี้เป็นการหักห้ามใจของตนเอง ไม่ให้คล้อยตามกิเลส เราจึงมีกำลังพอที่จะสู้กับกิเลสได้
หลังจากนั้น องค์สมเด็จพระภควันต์บรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า ยังประกาศวิธีการปฏิบัติของพระพุทธศาสนาต่อไปว่า สัพพะปาปัสสะ อะกะระณัง ให้ละเว้นจากความชั่วทั้งปวง ก็คือ ละเว้นความชั่วที่จะกระทำทางกาย ทางวาจา ทางใจนั่นเอง
ความชั่วที่กระทำทางกายเรียกว่า กายทุจริต ประกอบไปด้วย การฆ่าสัตว์ การลักทรัพย์ การประพฤติผิดในกาม การดื่มสุราเมรัย เป็นต้น
ความชั่วที่ประกอบทางวาจา เรียกว่า วจีทุจริต ก็คือ การที่เราพูดโกหก พูดคำหยาบ การพูดส่อเสียด และการพูดวาจาไร้ประโยชน์ เป็นต้น
ความชั่วที่เกิดขึ้นทางใจเรียกว่า มโนทุจริต คือ โลภมากอยากได้สิ่งของของคนอื่นก็ดี โกรธเกลียดอาฆาตพยาบาทเขาก็ดี มีความเห็นเป็นมิจฉาทิฐิค้านกับคำสอนของพระพุทธเจ้าก็ดี สิ่งทั้งหลายเหล่านี้เรียกว่า มโนทุจริต เป็นความชั่วทางใจ
เมื่อพระองค์ท่านตรัสว่า สัพพะปาปัสสะ อะกะระณัง ให้ละเว้นจากความชั่วบาปทั้งปวง ก็คือละเว้นความชั่วที่จะเกิดขึ้นทางกาย ทางวาจาและ ทางใจนั่นเอง
วิธีการที่ ๒ พระองค์ท่านตรัสว่า กุสะลัสสูปะสัมปะทา ขอให้ทำความดีให้ถึงพร้อม ซึ่งตรงข้ามกับข้อเมื่อครู่นี้ ได้แก่ การทำความดีด้วยกาย ด้วยวาจา และด้วยใจ
การทำความดีด้วยกาย เรียกว่า กายสุจริต ก็คือ เว้นจากการฆ่าสัตว์ เว้นจากการลักทรัพย์ เว้นจากการประพฤติผิดในกาม และเว้นจากการดื่มสุราเมรัย
การทำความดีด้วยวาจา เรียกว่า วจีสุจริต คือ งดเว้นจากการโกหก งดเว้นจากการพูดคำหยาบ งดเว้นจากคำพูดส่อเสียดให้ผู้อื่นเขาแตกร้าวกัน และงดเว้นจากคำพูดที่เพ้อเจ้อไร้ประโยชน์
ในส่วนการทำความดีด้วยใจ เรียกว่า มโนสุจริต ก็คือ ข้อที่ ๑ ไม่คิดโลภอยากได้ของของคนอื่นจนเกินพอดี เห็นว่าอะไรที่เราชอบ เราอยากได้ ก็หามาให้ถูกต้องตามตามศีลตามธรรม
ข้อที่ ๒ ก็คือ งดเว้นจากการโกรธเกลียด อาฆาตพยาบาทผู้อื่น ความโกรธสามารถมีได้เป็นปกติ ตราบใดที่ยังไม่ใช่พระอนาคามีก็ยังโกรธผู้อื่นอยู่ แต่องค์สมเด็จพระบรมครูทรงสอนให้เราไม่ขังความโกรธไว้ โกรธแล้วเมื่อถึงเวลาหันไปจากที่นั้น ก็ให้ลืมไปเสียเลย

ถ้าเราไปขังความโกรธเอาไว้ เท่ากับเราเอาความชั่วมาเก็บไว้ในใจเราเอง ถ้าหากว่าจิตใจของเราเศร้าหมอง ก็แปลว่าเราจะต้องลงสู่อบายภูมิ คือไปเกิดเป็นสัตว์นรกบ้าง เป็นเปรตบ้าง เป็นอสุรกายบ้าง เป็นสัตว์เดรัจฉานบ้าง เป็นต้น
ข้อที่ ๓ ของการปฏิบัติในมโนสุจริตก็คือ เป็นผู้มีสัมมาทิฐิ เห็นว่าศีล สมาธิ และปัญญา ที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสสอนเรามานั้น เป็นสิ่งที่ดี เป็นสิ่งที่เราจำเป็นต้องปฏิบัติตาม เพราะว่าผู้ที่ปฏิบัติตามนั้นจะประกอบไปด้วยประโยชน์สุข ๓ สถานด้วยกัน
สถานแรกเรียกว่า ทิฏฐธรรมมิกัตถประโยชน์ เป็นประโยชน์ในชาติปัจจุบัน เราเป็นผู้มีศีล มีสมาธิ มีปัญญา ปฏิบัติตนเป็นคนดี เป็นบุคคลที่สังคมให้การเคารพยกย่อง เราจะไปที่ไหนก็ตาม มีแต่คนยินดีต้อนรับ ก็เท่ากับว่าเราจะมีความสุขในปัจจุบัน เพราะคนให้การนับหน้าถือตา ให้ความเคารพ ให้ความเชื่อถือในความดีของเรา จะอยู่ที่ไหนก็ต้องเป็นผู้นำเขา คือนำในการสั่งสอนให้ผู้อื่นให้เป็นคนดี
สถานที่ ๒ เรียกว่า สัมปรายิกัตถประโยชน์ เป็นประโยชน์ในชาติถัดไป ถ้าท่านสามารถดำรงความดีด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจนี้ให้มั่นคงได้ ท่านก็จะเกิดในสุคติ คือถ้าเป็นมนุษย์ก็เป็นมนุษย์ชั้นดี หรือเกิดเป็นเทวดา เป็นนางฟ้า ถ้ากำลังใจมั่นคงกว่านั้นท่านก็จะไปเกิดเป็นพรหม
แต่ถ้าท่านไม่นิยมในการเกิดเลย เห็นว่าสภาพร่างกายนี้ไม่ดี มีแต่ความทุกข์ สภาพของโลกนี้มีแต่ความทุกข์ ท่านไม่ต้องการการเกิดอีกแล้ว ถ้าสามารถขุดถอนรากเหง้าของกิเลสออกจากใจได้ ท่านก็จะได้ประโยชน์ในสถานที่ ๓ เป็นข้อสุดท้าย ที่เรียกว่า ปรมัตถประโยชน์ คือประโยชน์สูงสุด ได้แก่การหลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิด พ้นจากความทุกข์ทั้งปวง เข้าสู่พระนิพพาน
พระครูวิลาศกาญจนธรรม, ดร.
ขอบคุณข้อมูลจากเว็บไซต์วัดท่าขนุน