แต่คราวนี้อย่าลืมว่าในการเผยแผ่นั้น เมื่อพระพุทธเจ้าส่งพระอรหันต์ ๖๐ องค์ออกเผยแผ่พระพุทธศาสนา พระองค์ท่านตรัสไว้อย่างไร ? “มุตตาหัง ภิกขะเว สัพพะปาเสหิ เย ทิพพา เย จะ มะนุสสาฯ

มุตตะ คือหลุดพ้น

สัพพะปาเสหิ จากบ่วงทั้งปวง

เย ทิพพา ทั้งที่เป็นของทิพย์

เย จะ มะนุสสา ทั้งที่เป็นของมนุษย์

ตุมเหปิ ภิกขะเว มุตตา สัพพะปาเสหิ แม้ภิกษุทั้งหลาย เธอก็พ้นแล้วด้วยจากบ่วงทั้งปวง

เย ทิพพา เย จะ มะนุสสา ทั้งที่เป็นของทิพย์และของมนุษย์

จะระถะ ภิกขะเว จาริกัง ภิกษุทั้งหลาย ขอเธอจงเที่ยวไป

พะหุชะนะหิตายะ พะหุชะนะสุขายะ เพื่อประโยชน์ของคนหมู่มาก เพื่อความสุขของคนหมู่มาก

โลกานุกัมปายะ เพื่ออนุเคราะห์แก่โลก

ต้องบอกว่าพระธรรมทูตชุดแรกในโลก เป็นพระธรรมทูตที่สมบูรณ์แบบ ถึงพร้อมด้วยคุณสมบัติทั้งปวง เพราะว่าเป็นผู้ที่ปราศจาก รัก โลภ โกรธ หลง โดยสิ้นเชิงแล้ว ทำหน้าที่เป็นไปเพื่อผู้อื่น ไม่ใช่เพื่อตนเอง

แล้วปกติอย่างพระภิกษุสามเณรในปัจจุบันของเราซึ่งทำหน้าที่เผยแผ่ เรามีอะไรเทียบท่านทั้งหลาย ๖๐ องค์นั้นได้บ้าง ? นอกจากผ้าไตรจีวร อันดับแรกเลย สิ่งที่ขาดไม่ได้ คือเราต้องมีศรัทธาที่มั่นคง เพราะถ้าไม่มีศรัทธาที่มั่นคงเสียอย่างเดียว โอกาสเสียจะมีมากกว่าดี ศรัทธาที่มั่นคงของเรา ที่จะเอาพระพุทธศาสนาที่เป็นของจริง ของแท้ ไปแสดงต่อบุคคลอื่น โดยเฉพาะต่อเด็ก ๆ

เราต้องไม่ลืมถึงความใจกว้างขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเรา พระองค์ท่านไม่ได้บอกว่า พระองค์ท่านตรัสรู้ธรรมด้วยตนเอง เป็นการค้นพบไขว่คว้ามาได้ด้วยตนเองแบบศาสดาอื่น ๆ แต่พระองค์ท่านยืนยันเอาไว้ในบทธรรมนิยามที่พวกท่านทั้งหลายสวดอยู่นั่นแหละ

อุปปาทา วา ภิกขะเว ตะถาคะตานัง ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พระตถาคตเจ้าทั้งหลายจะอุบัติขึ้นก็ดี

อะนุปปาทา วา ตะถาคะตานัง พระตถาคตเจ้าทั้งหลายจะไม่อุบัติขึ้นก็ดี

ฐิตา วะ สา ธาตุ ธัมมัฏฐิตะตา ธรรมทั้งหลายก็ตั้งมั่นอยู่แล้ว ก็คือมีอยู่แล้วเป็นปกติ

ธัมมะนิยามะตา คำจำกัดความของคำเหล่านั้นคือ

สัพเพ สังขารา อะนิจจาติ สังขารทั้งหลายไม่เที่ยง

สัพเพ สังขารา ทุกขาติ สังขารทั้งหลายเป็นทุกข์

สัพเพ ธัมมา อะนัตตาติ ธรรมทั้งหลายไม่มีอะไรเป็นตัวตนเราเขาให้ยึดมั่นถือมั่นได้

มีใครเถียงได้บ้าง ? ต่อให้คุณยกทฤษฎีของฝรั่งมากี่ร้อยกี่พันทฤษฎี ก็เถียงไม่ได้ทั้งนั้น เพราะหลักธรรมของพระพุทธเจ้าไม่ใช่ทฤษฎี แต่เป็นทฤษฎีสมบูรณ์ เป็น Absolute ไม่ใช่ Theory แต่เป็น Theorem

พระองค์ท่านบอกว่า ตัง ตะถาคะโต อะภิสัมพุชฌะติ เมื่อพระตถาคตเจ้าบรรลุอภิเษกสัมมาสัมโพธิญาณแล้ว

อาจิกขะติ นำมาบอกกล่าว

เทเสติ นำมาแสดง

ปัญญะเปติ นำมาบัญญัติ

ปัฏฐะเปติ นำมาก่อตั้ง

วิวะระติ นำมาจำแนก

วิภะชะติ นำมาแยกแยะ

อุตตานีกะโรติ ทำของลึกให้ตื้น คือทำของยากให้ง่ายขึ้น

ะองค์ท่านไม่ได้บอกว่าหลักธรรมนี้เป็นของพระองค์ท่าน แต่ว่าสิ่งทั้งหลายเหล่านี้มีอยู่แล้ว เพียงแต่พระองค์ท่านรวบรวมมา เป็นใบไม้ ๑ กำมือ สั่งสอนพวกเรามา ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์..! แต่สิ่งที่พระองค์ท่านรู้คือใบไม้ทั้งป่า ทำอย่างไรที่เราจะมีศรัทธาแน่นแฟ้นตรงนี้ คือ ตถาคตโพธิสัทธา ศรัทธาในการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า แล้วอยากจะนำหลักธรรมทั้งหลายเหล่านี้ไปเผยแผ่ต่อให้ผู้อื่นได้รู้บ้าง ?

คราวนี้พอมาถึงยุคปัจจุบันนี้ ไม่ว่าท่านทั้งหลายจะโดนเรียกด้วยคำไหนก็ตาม จะเป็นพระธรรมทูต จะเป็นพระธรรมจาริก จะเป็นพระปริยัตินิเทศก์ จะเป็นครูพระสอนศีลธรรม หน้าที่ของเราคือเผยแผ่พระพุทธศาสนา ในเมื่อหน้าที่ของเราคือการเผยแผ่พระพุทธศาสนา เราก็ต้องขัดเกลาตัวเองให้ดีที่สุด

ในเมื่อคุณสมบัติไม่ครบถ้วน จะทำหน้าที่ให้ดี ก็คือต้องสอนเขาด้วย สอนตัวเองด้วย ก็ต้องยึดหลักกัลยาณมิตรธรรมทั้ง ๗ อย่าเพิ่งต่อต้านด้วยการบอกว่ากัลยาณมิตรธรรมเป็นของสายธรรมกาย..! ไม่ใช่..เป็นของพระพุทธเจ้า ทางธรรมกายเขายืมคำนี้ไปใช้เท่านั้น

กัลยาณมิตรธรรม หลักธรรมของกัลยาณมิตร จริง ๆ นั่นคือหลักธรรมของความเป็นครู พระองค์ท่านตรัสเอาไว้ว่า กัลยาณมิตรเกือบจะเป็นทุกอย่างในชีวิต ก็คือครูเกือบจะเป็นทุกอย่างในชีวิต ประกอบไปด้วยอะไรบ้าง ?

๑. ปิโย เป็นผู้ที่น่ารักน่าเคารพ ก็ต้องวางตัวดี สมกับความเป็นครู สมัยกระผม/อาตมภาพยังเด็กอยู่ คุณครูไปไหนจะได้รับเกียรติมากกว่าข้าราชการทั่วไป ขนาดขึ้นรถ ไม่มีที่นั่ง ทุกคนจะลุกให้ครูนั่งด้วยความเต็มใจ

๒. ครุ ต้องมีความหนักแน่น โดยเฉพาะต้อง “หูหนัก ใจหนัก” ไม่ใช่ประเภทขึ้น ๆ ลง ๆ ปรี๊ดแตกง่าย น้ำขุ่นต้องอยู่ใน น้ำใสต้องอยู่นอก ถึงเวลาแล้วค่อยทำตัวเป็น “แม่น้องเนเน่” โดน “เจ้าชินจัง” กวนมาก ๆ ภายนอกก็ “ยิ้มอ่อน” เข้าห้องน้ำเมื่อไร ล้วงตุ๊กตาจากเป้ออกมาก็ชกให้สะใจ..! นั่นค่อยว่ากันตอนกลับกุฏิไปแล้ว..!

๓. ภาวนีโย เป็นผู้แสวงหาความเจริญอยู่เสมอ คือขัดเกลา กาย วาจา ใจ ของตนเองอยู่เสมอ ศึกษาความรู้เพิ่มเติมอยู่เสมอ โลกก้าวไปข้างหน้า เราจะใช้วิธีเดิม ๆ ในการเผยแผ่ เด็กเขารับไม่ได้แล้ว ตอนนี้ขนาดพาวเวอร์พอยท์ เด็กก็ยังเซ็งแล้ว

เพราะฉะนั้น..มีเทคโนโลยีอะไร งัดออกมาใช้ได้ เราปฏิเสธความก้าวหน้าไม่ได้เพราะว่าโลกเป็นอย่างนั้น แต่ว่าให้เทคโนโลยีเป็นเครื่องหนุนเสริมให้การเผยแผ่ของเราง่ายขึ้น สะดวกขึ้น แต่ไม่ใช่ให้เป็นทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิตของเรา แล้วใช้แบบขาดสติ ขาดสติเมื่อไร “ดราม่า” ก็เกิดเมื่อนั้น

๔. วัตตา รู้จักใช้คำพูด จะชมคนต้องชมต่อหน้าคนมาก ๆ แต่ถ้าจะด่าคน ให้เรียกไปด่าเป็นการส่วนตัว แต่บางคนถ้าหากว่ารั้นมาก ก็สมควรโดนด่าประจาน..! เพราะฉะนั้น..เราจะต้องมีหลักปุคคลปโรปรัญญุตาด้วย รู้ว่าแต่ละบุคคลเหมาะสมกับคำพูดแบบไหน บางคนถ้าหากว่าเกิดเป็นนางฟ้าเป็นเทวดาบ่อย ก็ต้องการคำพูดที่อ่อนหวานไพเราะ แต่ไอ้พวกเป็นสัตว์นรกบ่อยนี่ บางทีด่าไปยันโคตรพ่อโคตรแม่ มันยังไม่รู้ตัวเลย..!

๕. วจนักขโม ถ้ากระผม/อาตมภาพแปลว่า “ทนต่อดราม่าได้” พวกท่านก็ว่ากระผม/อาตมภาพแหกคอกบาลีอีก บาลีเขาแปลว่า อดทนต่อคำพูดได้ใครจะนินทาว่าร้าย ต้องพกหินไว้ให้ใจหนัก ๆ ได้ยินก็เหมือนกับไม่ได้ยิน เพราะว่าปกติของคน “คนรักเท่าผืนหนัง คนชังเท่าผืนเสื่อ” หนังอย่างดีก็แค่หุ้มตัวเราได้ แต่เสื่อนี่หุ้มได้ทั้งตัวเลย แถมยังข้าวของอีกมากมาย ห่อเสร็จก็โยนลงหลุมฝังไปเลย..!

๖. คัมภีรัญจะ กะถัง กัตตา สามารถอธิบายข้อธรรมที่ลึกซึ้งได้ ถ้าไปไม่ไหวก็บอกประมาณว่า “เป็นคำถามที่ดี ขอติดค้างเอาไว้ก่อน เดี๋ยวจะไปค้นคว้าเพิ่มเติมมาให้” อย่าไปวางฟอร์มมาก ไม่รู้ให้บอกว่าไม่รู้ แต่ว่า..“เธอและคุณครูมาเรียนพร้อมกัน ถ้าหากว่าส่วนไหน เธอคิดว่ารู้มากกว่า ช่วยบอกครูด้วย..!”

ข้อสุดท้ายสำคัญที่สุด ๗. โน จัฏฐาเน นิโยชะเย จะไม่ชักนำศิษย์ไปในทางที่เสียหาย อย่างไรเสียก็ต้องตีกรอบเอาไว้ โดยเฉพาะครูพระสอนศีลธรรมที่อายุน้อย พรรษาน้อย แล้วต้องไปสอนโรงเรียนมัธยมที่บรรดาสาว ๆ วัยรุ่นเยอะแยะไปหมด ตายอย่างเดียวเลย..!

แล้วจะเอาอะไรมาป้องกัน ? อันดับแรกเลย สมณสัญญาบัดนี้เรามีเพศต่างจากคฤหัสถ์แล้ว อาการกริยาใด ๆ ของสมณะ เราต้องทำอาการกริยานั้น ๆ ไม่ใช่เห็นเด็กคนไหนหน้าตาดี ชอบใจก็แถเข้าไป “หลี” เสียเอง..!

อย่างไรเสียเราต้องมีศีลเป็นกรอบ จะนอกทุ่งนอกท่าขนาดไหน ก็ไปแค่กรอบของศีล เกินกว่านั้นเราไม่ไปด้วย แล้วก็ค่อย ๆ ศึกษาเรื่องของไตรสิกขา คือ ศีล สมาธิ ปัญญา ขัดเกลาตัวเองเพิ่มขึ้นไปเรื่อย ๆ สอนตัวเองด้วย สอนคนอื่นด้วย ถึงจะพอเรียกได้ว่าเป็นครูพระสอนศีลธรรมที่แท้จริงได้

ที่มา : ส่วนหนึ่งจากเสียงธรรมจากวัดท่าขนุนวันจันทร์ที่ ๕ กันยายน พุทธศักราช ๒๕๖๕

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *