กาลครั้งนั้น เมืองโบราณแห่งหนึ่งชื่อว่า “เมืองเสมา” มีพระเจ้าสุระเสมา เป็นเจ้าผู้ปกครองนคร พระองค์มีโอรส ๗ พระองค์ จึงส่งพระโอรสไปปกครองแคว้นหัวเมืองต่างๆ

ทั้ง ๗ แคว้น มีเมืองยาคูวดี ที่เจริญรุ่งเรืองมากที่สุด พระโอรสที่ปกครอง มีพระนามว่า “พระเจ้ามหานาม” พระองค์เป็นกษัตริย์ทรงมั่นในทศพิธราชธรรม ปกครองไพร่ฟ้าร่มเย็นเป็นสุข

นอกจากนี้พระองค์ยังมีปุโรหิต นามว่า จูฬากูณ ท่านเป็นปราชญ์เชี่ยวชาญ รอบรู้ทั้งทางโหราศาสตร์ ไสยศาสตร์ เวทย์มนต์ สามารถคำนวณลมฟ้าดินอากาศ ได้อย่างอัศจรรย์จนชื่อเสียงเป็นที่เลื่องลือ

ปุโรหิตจูฬากูณ ท่านเป็นที่ปรึกษาราชการแผ่นดินให้กับ พระเจ้ามหานาม ความเก่งรอบรู้สรรพวิชาของท่านปุโรหิต เป็นประโยชน์อย่างมากต่อการปกครองแผ่นดินของพระเจ้ามหานาม กระทั่งมีความมั่นคงเป็นปึกแผ่นมากกว่า พี่น้องคนใดใด

ชื่อเสียงของปุโรหิตจูฬากูณ แผ่กระจายไปไกลยังเมืองพระโอรสอื่นๆ กษัตริย์เมืองต่างๆ อิจฉาพระเจ้ามหานาม ว่ามีบุญบารมีได้ ปุโรหิตที่มีความสามารถรอบรู้ สติปัญญาหลักแหลม มาช่วยบริหารราชการแผ่นดิน

ขณะเดียวกัน สำนักของท่านปุโรหิตจูฬากูณ มีผู้คนมาขอสมัครฝากตัวเป็นลูกศิษย์มากมาย ในจำนวนนี้ ย่อมมีทั้งคนดีและคนไม่ดีเป็นปกติวิสัย

ดังคำสุภาษิต “สี่ตีนยังรู้พลาด นักปราชญ์ยังรู้พลั้ง” ท่านปุโรหิต แม้มีความรอบรู้ในสรรพวิทยา แต่กลับขาดเฉลียวใจในการไว้วางใจกับลูกศิษย์

ศิษย์คนหนึ่งชื่อ “ฉมาสร” ด้วยศิษย์คนนี้ปากหวาน มักเอาอกเอาใจอาจารย์ จนทำให้อาจารย์ปุโรหิต รักใคร่เอ็นดู จึงแต่งตั้งให้เป็นศิษย์เอก มีสิทธิ์เหนือกว่าศิษย์อื่นทุกคน

ฉมาสร สร้างฐานอำนาจ บารมีของตนเอง จนมีลูกศิษย์เป็นของตนเองจำนวนหนึ่ง ชื่อเสียงของฉมาสร เข้าพระเนตรพระกรรณ ของพระเจ้ามหานาม อยู่เนืองๆ

ด้วยความเมตตา รักใคร่เอ็นดูที่ท่านปุโรหิตจูฬากูณมีต่อ ฉมาสร ท่านจึงฝากฝังให้ ฉมาสร ผู้เป็นศิษย์เอกไปเรียนสรรพวิทยา ที่เมืองตักศิลา อันมี อาจารย์ทิศาปาโมกข์ เป็นสหายของท่าน เพื่อเพิ่มพูนสรรพความรู้ให้กับศิษย์คนนี้

เมื่อ ฉมาสร รู้ว่าตนเองจะได้เป็นผู้สืบทอดตำแหน่งปุโรหิต ต่อจากอาจารย์ ก็เร่งศึกษาหาความรู้ทวีมากยิ่งขึ้น และก็เป็นดั่งเช่นนั้น

ครั้นเมื่อ ปุโรหิตจูฬากูณ สิ้นชีวิต ตำแหน่งปุโรหิตประจำเมืองยาคูวดี จึงตกเป็นของ ฉมาสร อย่างไม่ต้องสงสัย เหล่าลูกศิษย์ในคณะของฉมาสร ต่างยินดีปรีเปรม กับอาจารย์ของตนที่ได้ขึ้นเป็นใหญ่

ฉมาสร เมื่อได้ขึ้นเป็นใหญ่ในเมือง ทั้งทรัพย์สิน อำนาจ และผู้คนหลั่งไหลเข้าสู่ตนอย่างมากมาย จนเริ่มหลงในอำนาจวาสนา

ฉมาสร ครุ่นคิดว่า ชื่อเสียงปุโรหิตของเมืองยาคูวดี แต่เดิมเป็นเอกกว่าเมืองทั้งหลาย ครั้นเมื่อมาถึงตนได้ดำรงตำแหน่ง ก็เกรงว่าชื่อเสียงที่อาจารย์ได้สั่งสมเกียรติคุณมาจะเสื่อมถอย อันจะทำให้ตนเองเสียหน้า

ความเป็นมิจฉาทิฐิจึงเริ่มเกิดขึ้นในใจของฉมาสร เขาเริ่มแสวงหาความรู้มากขึ้นอย่างบ้าคลั่ง เริ่มสอบถามวิชา สรรพความรู้ต่างๆ จากศิษย์ร่วมสำนักเดียวกัน ว่ามีความรู้อื่นใดที่ตนเองยังไม่รู้อีกบ้าง

เมื่อได้ความรู้ใดใดจากศิษย์ร่วมสำนักมาแล้ว มักนำไปแสดงให้กษัตริย์และเหล่าลูกศิษย์ของตนเอง ว่าความรู้นี้ ตนเองได้ร่ำเรียน สืบทอดโดยตรงจากท่านอาจารย์ปุโรหิตจูฬากูณ

แม้กระนั้น ก็ยังไปเที่ยวเสาะแสวงหาความรู้จากต่างถิ่นต่างแดน และขอความรู้จากศิษย์ร่วมเรียนในสำนักตักศิลาเมื่อครั้งตัวเองเคยไปเรียน

เมื่อได้ความรู้ก็นำมาตู่ ดัดแปลงว่าเป็นของตนเอง จนเป็นที่โจษจันกันไปทั่วเมืองนครต่างๆ มิจฉาทิฐิของฉมาสร นับวันทวีมากขึ้น พร้อมกับความระเริงในลาภยศ สรรเสริญ ที่ได้ทั้งจากกษัตริย์ และเหล่าผู้คนทั้งหลาย ต่างยกย่องชื่นชมในความเก่งกาจ สามารถรอบรู้สรรพวิชาได้ไม่แพ้ อาจารย์ของตนในอดีตเลย

กระทั่ง เหล่านักปราชญ์จากเมืองอื่นๆ เริ่มรู้ถึงพฤติกรรมของฉมาสร จึงค่อยๆ หลีกหน้าหนีหาย ปราชญ์ผู้รู้บางท่าน บางเมือง ต้องการดัดนิสัยฉมาสร จึงเริ่มบิดเบือนข้อมูลที่ให้ หรือลวงพรางข้อมูลความรู้ในสรรพวิชาการต่างๆ ให้ฉมาสร ได้ข้อมูลไปแบบผิดเพี้ยน

ขณะเดียวกัน เหล่าคณะศิษย์ของฉมาสร ก็ลำพองตน ลำพองใจว่าอาจารย์ตนเองเก่ง รอบรู้สรรพวิชากว่าปราชญ์เมืองทั้งหลาย บางคนท้าประลองวิชาอาคม ประลองความรู้ และก็พ่ายแพ้กลับมาหลายครั้ง เพราะวิชาที่เหล่าศิษย์นำไปอวดอ้างนั้น เป็นของปลอมที่ ฉมาสร แต่งขึ้นมาเอง หรือตู่เอาจากของสำนักเมืองอื่นมาเป็นของตนเอง

แม้ว่าในหมู่ปุโรหิต ปราชญ์ผู้ทรงภูมิของเมืองต่างๆ จะเริ่มรู้ถึงพฤติกรรมของฉมาสรกันมากขึ้น แต่ขณะเดียวกัน ฉมาสรก็กลับมีฐานกำลังอำนาจเพิ่มมากขึ้นเป็นทวีคูณ ก็เนื่องมาจากการอวดอ้างสรรพคุณความรู้ ความสามารถของตนเอง ว่าตนเองนั้นมีความรู้ไม่น้อยไปกว่า ปุโรหิตจูฬากูณ ผู้เป็นอาจารย์

ความหยิ่งผยองนี้จึงนำมาสู่เหตุการณ์เปลี่ยนแปลงที่สำคัญ ปุโรหิตและเหล่านักปราชญ์ผู้รู้ทั้งหลาย จึงกำหนดการประลองวิชาความรู้ และอาคมสรรพเวทย์ ในหมู่ปุโรหิต และนักปราชญ์ ทุกแคว้นทั่วสารทิศ

ฉกาสร รู้ตัวเองดีว่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ตนเองสร้างวิชาความรู้ลวง ที่คิดประดิษฐ์ขึ้นมาเอง จึงไม่กล้าลงไปประลองตามกติกาคำท้าของเหล่าปุโรหิตเมืองอื่นๆ

จึงอ้างว่าตนเองนั้น ติดภาระกิจสำคัญ ต้องเข้าสมาบัติ กระทำวิชาเพื่อดำรง ค้ำชะตาเมือง จึงส่งเหล่าศิษย์ของตนไปร่วมประลองวิชา

ฉมาสร คิดว่า หากศิษย์ไปแล้วสู้ไม่ได้ ก็ย่อมไม่เสียหน้า ด้วยว่า การไปต่อสู้ประลองวิชากับเหล่าปุโรหิตนั้น ศิษย์ของตนยังอ่อนความรู้ ด้อยประสบการณ์ จึงเป็นเหตุให้สู้กันไม่ได้ ก็นับเป็นเรื่องปกติวิสัย

เวทีประลองวิชานี้ มิใช่การประลองวิชาธรรมดาเป็นแน่ หากแต่เป็นกลลวงของเหล่าปุโรหิตที่คิดสมประชุมกันขึ้น เพื่อแฉพฤติกรรมชั่วร้ายของ ฉมาสร เป็นสำคัญ

เหล่าปุโรหิตผู้รู้ทั่วทุกเมือง ที่เข้าร่วม ต่างรู้กันว่า การประลองวิชาในครั้งนี้ ก็เพื่อประโยชน์ ๒ ประการคือ

๑.เพื่อรวบรวมประมวลสรรพวิชาการทั้งหลาย ที่กระจัดกระจาย ทั้ง ๗ เมือง ให้เป็นสรรพความรู้ปึกแผ่นเดียวกัน

๒.เพื่อแฉพฤติกรรมชั่วร้ายของ ฉมาสร

หลังการประลองวิชา เหล่าปุโรหิต นักปราชญ์ทั้งหลายจึงประชุมร่วมกัน และสามารถทราบโดยทั่วกันว่า วิชาการต่างๆที่ถูก ฉมาสร ขโมยตู่ไปนั้นมีวิชาอะไรบ้าง และเป็นของใครบ้าง ก็ด้วยมาจากการที่ศิษย์นำมาใช้ในการประลอง และคุยโอ้อวดนั้นเอง

ปุโรหิตแต่ละเมืองจึงทำหนังสือฎีกาถวายให้กษัตริย์ของตนเองรับรู้ ถึงพฤติกรรมของปุโรหิตของเมืองยาคูวดี

หลังจากนั้นไม่นาน ความนี้ได้ล่วงรู้ไปถึง พระเจ้ามหานาม ในคราวแรกพระองค์ไม่เชื่อ ด้วยคิดว่า คงเป็นกลอุบายของเมืองพี่น้อง เมืองใดเมืองหนึ่งที่ประสงค์ร้ายกับเมืองของพระองค์เป็นแน่ พระองค์ทรงค้นหาความจริงด้วยพระองค์เอง แต่ก็ไม่ค้นพบความจริงนั้น

เนื่องด้วย ฉมาสร เป็นคนฉลาด สร้างเรื่องราว และเก็บหลักฐานความลับได้เป็นอย่างดี ด้วยประการหนึ่ง พระเจ้ามหานาม พระองค์ไม่มีความรู้มากนักเกี่ยวกับ โหราศาตร์ ไสยศาสตร์ การสืบหาความจริง จึงเป็นเรื่องยากสำหรับผู้ไม่รู้

พระองค์ทรงมั่นใจในตัว ฉมาสร ว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ อันตกเป็นเครื่องมือของ กษัตริย์พี่น้อง ผู้ประสงค์ร้ายอย่างแน่นอน เมื่อคราวใดที่มีการประชุมร่วมกันระหว่างเมืองพี่น้อง และมีการพูดถึงนิสัยลวงของ ฉมาสร พระเจ้ามหานาม ก็จะเข้าข้าง และยิ่งมั่นพระทัยว่า เหล่าพี่น้องยุยงใส่ร้าย ฉมาสร เป็นแน่แท้

ชื่อเสียง อำนาจของ ฉมาสร แพร่ขยายออกไปไกลมากยิ่งขึ้น มีเหล่าศิษย์สาวกมากยิ่งขึ้น สรรพวิชาอันเป็นจริงถูกบิดเบือนจนหาเค้าจริงแทบไม่ได้ ส่วนสรรพวิชาความรู้ที่เป็นวิชาจริงนั้น เหล่าปุโรหิต ผู้มีความรู้ท่านอื่นๆ ก็ต่างเก็บงำความรู้นั้น และสั่งกำชับศิษย์ว่าห้ามแพร่งพรายวิชาออกไปเด็ดขาด

จวบจนกระทั่ง ฉมาสร เสียชีวิต เหล่าศิษย์ต่างๆ ก็ยังลำพองใจว่า สรรพวิชาที่ตนเองได้รับมาจาก ฉมาสร ผู้เป็นอาจารย์ของตนนั้น ครบถ้วนถูกต้องเป็นจริง จนกระทั่งผ่านมาในยุคหลัง มีปราชญ์น้อยท่านหนึ่งชื่อ นาละ มีความรอบรู้ในสรรพวิชา ศึกษาอย่างถ่องแท้ เป็นผู้มีสติปัญญามาก

ชื่อเสียงของ นาละ จึงแผ่ขยายออกไปอย่างรวดเร็ว และนาละนี้เอง ที่เป็นผู้ รวบรวมสรรพวิชาทั้งปวงของ ๗ แคว้น เข้าไว้ด้วยกัน ชำระสรรพวิชาการต่างๆ รวบรวมเป็นรูปตำรา เมื่อมีการสอนสรรพวิชาที่เป็นของจริง ผลสัมฤทธิ์ ความศักดิ์สิทธิ์จึงบังเกิดขึ้นจริงตามคุณแห่งวิชานั้นๆ

ความรู้วิชากลลวงที่ ฉมาสร เคยสั่งสอนศิษย์ ก็ค่อยๆ ถูกกลบ ลบลงไป แต่เดิมเหล่าศิษย์ของ ฉมาสร ก็ต่างถือตน ถือดีว่า นาละ เป็นคนที่รู้วิชาไม่จริง เป็นเพียงเด็กน้อย ด้อยประสบการณ์จะไปล่วงรู้เก่งกาจในสรรพวิชาได้อย่างไร และสิ่งที่ นาละนำมาสั่งสอนนั้น ก็ดูจะผิดแผกไปจากสิ่งที่พวกตนรู้ทั้งสิ้นทั้งปวง

ความจริง คือ ความจริง ซึ่งสรรพวิชา คือ ความรู้อันเป็นจริง ดังนั้น ความรู้ในสรรพวิชาการต่างๆ ที่ ฉมาสร เคยตู่ อุปโลกน์สอนศิษย์นั้น ก็ค่อยๆเสื่อมสลายคลายความนิยมลง เพราะความรู้คือสิ่งที่เป็นจริง และมีเหตุผลในการรองรับความรู้นั้นเสมอ

ตำรับ ตำราที่นาละ รวบรวม ในภายหลังจึงกลายเป็นคัมภีร์เวทย์ศาสตร์ ตัชชารี อันเป็นคัมภีร์ปฐมต้นที่มาของคัมภีร์พุทธาธิคม หรือ พุทธาคม ในดินแดนสุวรรณภูมิ

นาละ มหาปราชญ์ ท่านได้รับการยกย่องให้เป็นครูต้น เวทย์ตัชชารี มีนามว่า “มหาสิทธินาละ” หรือ “ทิศาปาโมกข์นาละ” หรือ “มหาฤาษีนาละ”

นิทานปรัมปรา ที่ยกมาให้ทุกท่านได้อ่านนี้ เป็นเสมือน บทเตือนจิต สอนใจ มิให้หลงใหลในโลกธรรม ๘ ไม่หลงผิดในความรู้อันบิดเบือนไปจากเดิม

ขอขอบคุณข้อจากเพจสัชฌายะ รสายนเวท

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *