เนื่องจาก งานพิธีจุดเทียนวิชาเจ้าเขมะกุมาร ณ อาศรมพรหมธาดาพุทธาสถาน อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่

ครูบาเจ้าตรัยเทพ จันทวัณโณ, ครูบาพรหมา ญาณธโร และพระสงฆ์ เจริญพุทธมนต์

โดยครูบาเจ้าตรัยเทพ ธรรมเทศนา เรื่อง พระเจ้าเขมะกุมาร ซึ่งท่านเป็นอริยบุคคล ในสมัยพุทธกาล

โบราณจารย์ล้านนา ท่านจึงนำโศลกเค้าเรื่องนี้มาผูกสรรสร้างขึ้นเป็นพระคาถา พระยันต์ ชื่อว่า วิชาเขมะกุมาร หรือ ยอดสวาทกำหนัด

วิชาเขมะกุมาร เป็นที่เลื่องลือ นับถือกันมาในสายครูบาอาจารย์ล้านนา ท่านยกย่องให้วิชานี้เป็นเอกอุทางด้านเสน่ห์เมตตา ซึ่งการหาที่มาว่า เหตุใดวิชาเขมะกุมาร จึงได้รับการยกย่องจากคณาจารย์ล้านนากันถ้วนหน้า ก็ด้วยว่า หากวิเคราะห์ในเนื้อวิชา จะพบว่า วิชาเขมะกุมาร เป็นวิชาการเรียกจิต สร้างสวาทกำหนัด

วิชาการเรียกจิต ในคติไสยเวทถือว่าเป็นวิชาที่ทรงคุณวิเศษ เหนือว่าว่าเสน่ห์ใดใด เนื่องด้วยต้องอาศัยองค์คุณหลายด้าน เช่น เนื้อมนต์ อำนาจจิต แรงครู (ผีครู) ประกอบเข้าด้วยกัน วิชาเขมะกุมาร พบหลายสายหลายสำนัก ซึ่งอาจจะมีรูปแบบที่แตกต่างกันไปบ้างตามมติข้างครูแต่ละท่าน

แต่สิ่งที่วิชาเขมะกุมาร มีเหมือนกันทุกสายข้างครู คือ เป็นวิชาเรียกจิต มัดใจ และตรึงจิตให้เคลิ้มหลงไหล ด้วยอำนาจมนต์ อำนาจจิต และอำนาจแรงครู

การที่เขียนบรรยายมาถึงตรงนี้ หลายคนที่อ่านอาจจะกำลังรู้สึกกลัวว่า เป็นวิชาเสน่ห์สายล่าง วิชาชั้นต่ำใช้ภูติพรายหรือไม่ ก็ขอตอบให้ชัดเจนเลยว่า ด้วยเนื้อวิชาเขมะกุมารนั้น หาเป็นเช่นนั้นไม่ วิชาเขมะกุมาร กลับเป็นวิชาขั้นสูงในเชิงชั้นครูวิชาหนึ่งที่ได้รับความนิยมไปทั่วดินแดนล้านนา

วิชาเขมะกุมาร ไม่เพียงเป็นที่นิยมรู้จักเฉพาะภาคเหนือเท่านั้น ยังปรากฏวิชานี้ในแถบลุ่มแม่น้ำป่าสัก และแม่น้ำสุพรรณ ขนบประเพณีของคนในพื้นถิ่นนี้ มีความพรั่งพร้อม อาหารการกินที่อุดมสมบูรณ์ และความเจริญรุ่งเรืองทางวัฒนธรรม ปรากฏเพลงเรือ เพลงอีแซว เพลงฉ่อย ลำตัด ลิเก เรียกดินแดนนี้ว่า “เมืองสวรรณภูมิ”

ขนบประเพณีการร้องละเล่น ที่นิยมส่วนใหญ่เป็นบทเกี้ยวสาว เกี้ยวหนุ่ม ดังนั้นจึงเกิดคติชนความเชื่อ การสอดแทรกมนตราคาถาเข้าไปก่อนมีการละเล่น เช่น ก่อนการละเล่นเกี้ยวสาว หนุ่มผู้นั้นจะร่ายมนต์เพื่อตราตรึงสาวให้ต้องมนต์สะกดของตน ดังนั้น จึงปรากฎมนต์เขมะกุมาร บางสายเรียกว่า “มนต์ยอดสวาท” “มนต์กำหนัด” เช่นสาย หลวงพ่อม่วง วัดพร้าว หลวงพ่อเนียม วัดน้อย อาจารย์เจียม บางปลาม้า

วิชาเขมะกุมาร นี้ สืบต้นเค้ามาจาก อรรถกถาธรรมบท (เขมมกเสฐฐิปุตต) ในสมัยพุทธกาล มีบุคคลหนึ่งนามว่า เขมกะ หรือ เขมะกุมาร เป็นหนุ่มรูปงาม มีเสน่ห์เป็นที่ตราตรึงใจแก่สาวทุกคนที่พบเห็น แม้แต่หนุ่มด้วยกัน แม้เพียงได้มองหน้า เขมะกุมาร ก็ยังเคลิบเคลิ้มในความงามของเขมะกุมาร

นอกจาก เขมะกุมาร จะมีรูปงามแล้ว ยังมีความเจ้าชู้อย่างมาก จึงทำให้เขมะกุมาร มีเมียมากมาย จนนับจำนวนไม่ถ้วน และในบางครั้งจำหน้าไม่หมดเสียด้วยซ้ำว่า หญิงนางนี้เคยเป็นเมียของตนมาก่อน

ชื่อเสียงของเขมะกุมาร ดังกระฉ่อนไปไกลจนถึงต่างเมือง เสียงกระฉ่อนนั้น หาใช่เรื่องดี หากแต่เป็นความเอื่อมระอาในความเจ้าชู้ของเขมะกุมาร หญิงที่มาหลุ่มหลงนั้น มีทั้งเด็กสาว และลูกเมียของคนอื่นๆ หลายครั้งที่เขมะกุมาร ไม่ได้หมายปองในหญิงนั้น แต่ด้วยอำนาจเสน่ห์ที่มีอยู่ในตัวเขมะกุมาร ไปตราตรึงจิตให้หญิงประสบเห็นใบหน้าเขมะกุมาร อันมีจิตใจอ่อนระทวยมอบกายมอบใจให้เสียเต็มประตู

เขมะกุมารถูกจับตัวไปถวายให้พระเจ้าปเสนทิโกสนถึง ๓ ครั้ง เพื่อไตร่สวน ข้อหาเจ้าชู้หว่านเสน่ห์กับหญิงอื่น แต่ด้วยเขมะกุมารเกิดในชาติตระกูลสูง ในตระกูลเศรษฐี มีฐานะเป็นหลานของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี พระเจ้าปเสนทิโกสน พระองค์เห็นแก่ท่านอนาถบิณฑิก จึงปล่อยกลับมาทุกคราวไป

ในครั้งที่ ๓ ท่านอนาถบิณฑิก ท่านจึงพาไปเข้าเฝ้าพระบรมศาสดา และกราบทูลของพระองค์ทรงเทศนาสั่งสอนหลานคนนี้ พระองค์ทรงแสดงธรรมถึงโทษปรทารกรรม (โทษในการเสพภรรยาของคนอื่น) หลังจากนั้น เขมะกุมาร จึงได้เข้าถึงธรรม ดำรงตนอยู่ในโสดาบันตลอดจนสิ้นอายุขัย

การที่เขมะกุมาร มีคุณวิเศษทางเสน่ห์ในตัวมากมายเช่นนี้ เนื่องจากบุพกรรม อดีตชาติ เขมะกุมาร เกิดในสมัยพระพุทธเจ้ากัสสปะ เป็นนักมวยที่มีความเก่งกาจมาก ในคราวนั้นมีการสร้างสถูปถวายพระพุทธเจ้ากัสสปะ อดีตชาติของเขมกะ มีศรัทธาอย่างแรงกล้า ถวายธงทอง ๒ แผ่น ขึ้นไว้บนสถูปของพระบรมศาสดา แล้วอธิษฐานด้วยจิตอันตั้งมั่นว่า

“ขอความปรารถนาเรา เว้นหญิงที่เป็นสาโลหิต หญิงที่เห็นเราแล้วจงกำหนัด” เมื่อสิ้นอายุขัยในชาตินั้น แรงอธิษฐานในขณะประกอบกุศลกรรมนั้น จึงส่งผลให้ เขมะกุมมาร มีรูปกายงดงาม มีแสงแห่งเสน่ห์ ตราตรึงแก่หญิงทุกคนที่เห็นหน้าเขมะกุมาร

ด้วยคุณลักษณะวิเศษของเขมะกุมาร นี้ โบราณจารย์ท่านจึง รจนาพระคาถาวิชาเขมะกุมาร ด้วยอ้างอิงบารมีเพื่ออำนวยผลทางเสน่ห์ มัดจิต ตราตรึงใจ โดยการลงพระคาถา มหาปรารถนาเขมะกุมาร (“ฐะเปตะวา ญาติ สาโลหิต……”) หรือมนต์ พรรณนารูปกายเขมะกุมาร สร้างเป็นรูปยันต์ ชายอุ้มประคองหญิง และมีหญิงอื่นนั่งรายล้อม

#สัชฌายะ_รสายนเวท

ขอขอบคุณข้อจากเพจสัชฌายะ รสายนเวท

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *